การแบ่งกลุ่ม

ประเทศไทยสามารถแบ่งได้เป็น 8 กลุ่ม ดังนี้

1. อู่โล้อ่าข่า

อู่โล้อ่าข่า หรืออ่าข่าไทย เป็นกลุ่มอ่าข่าที่เข้ามาประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก เข้ามาทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่นเข้ามาที่ดอยตุง แม่ฟ้าหลวง กลุ่มนี้มีมากที่สุดในจังหวัดเชียงราย กระจายไปสู่จังหวัดอื่นๆ เช่นเชียงใหม่ จากการศึกษาพบว่าหมู่บ้านอู่โล้อ่าข่า ซึ่งเป็นที่รู้จักและแพร่หลาย และมีโอกาสได้รับการพัฒนาจากรัฐบาลไทย มี 2 ชุมชน คือ บ้านอ่าข่าดอยแสนใจ อำเภอแม่ฟ้าหลวง และบ้านอ่าข่าดอยสะโง้ะ อำเภอเชียงแสน ซึ่งสองชุมชนนี้เป็นชุมชนอ่าข่าอู่โล้ที่ได้มาตั้งยาวนานหลายชั่วอายุคน สาเหตุที่ต้องเรียกกลุ่มนี้ว่า อูโล้ หมายถึง หมวกหัวแหลม สามารถแยกคำได้คือ อู่ ย่อมาจากคำว่า อู่ดู่ หมายถึงหัว โล้ หมายถึงกลมแหลมสูง เป็นการตั้งชื่อกลุ่มตามลักษณะการใส่หมวก ซึ่งกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่เด่นที่สุดในการใส่หมวกอ่าข่า

ประชากรอู่โล้อ่าข่าเป็นกลุ่มอ่าข่าที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีประชากรรวมราวประมาณ 32,500 คน กระจ่ายอยู่ 5 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ และตาก ศาสนาและความเชื่อ อู่โล้อ่าข่า ส่วนมากยังนับถือประเพณีดั้งเดิมอยู่ กราบเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษ และบางส่วนได้หันไปนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม หมู่บ้านอ่าข่าอู้โล้ที่มีประชากรมากที่สุดคือบ้านแสนเจริญเก่า ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ในส่วนภาษาพูดที่กลุ่มอู่โล้ใช้ ถือเป็นภาษาที่มาตรฐานและเป็นกลางในการสื่อสารกันกับอ่าข่าประเภทอื่นๆ ทั่วไป

2. ลอมี้อ่าข่า

การที่คนอ่าข่ากลุ่มนี้ได้ชื่อว่า “ ลอมี้อ่าข่า ” เพราะตอนอยู่ประเทศพม่าในเขตเชียงตุง ได้อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ที่มีชื่อว่า “ ม่อนดอยหมี ” หรือเรียกเป็นภาษาอ่าข่าว่า “ ม่าหล่าก่อจ่อ ” ดินแดนแห่งนี้เต็มไปด้วยหมีหรือเรียกเป็นภาษาอ่าข่าว่า “ ฮ่าฮุ้ม ” ในหมู่บ้านม่อนดอยหมีนี้มีชนเผ่าอาศัยอยู่หลายเผ่า เช่น ไทใหญ่ จีน ลาหู่ และอ่าข่า คนอ่าข่ามีจำนวนครัวเรือนในชุมชนนี้มากกว่าหนึ่งพันครอบครัว แต่ด้วยสำเนียงและการเรียกที่ม่อนดอยหมีไม่ชัดเจนจึงเรียกเพี้ยนมาเป็นดอยลอมี้ ต่อมาได้มีกลุ่มคนจีนที่มีชื่อว่า “ แชแลกวาง ” มาตั้งฐานทัพใกล้กับดอยที่อ่าข่ากลุ่มนี้อาศัยอยู่ ต่อมาฐานทัพจีนถูกตีแตกโดยทหารพม่าและไทใหญ่ที่เข้ามาจากเชียงตุง ทำให้อ่าข่ากลุ่มนี้แตกและอพยพหนีสงครามลงมา ในปีม้า หรือเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ กระจายออกมาทางเชียงตุง

ต่อมาอ่าข่ากลุ่มนี้ได้เข้ามาในเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย บริเวณบ้านพญาไพร่ลิทู่ (ปัจจุบันบ้านพญาไพรเล่ามาและลิทู่อยู่ในเขตอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพราะได้แยกเป็นกิ่งอำเภอจากอำเภอแม่จัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ และได้ยกสถานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙) และได้ตั้งชุมชนหมู่บ้านพญาไพรเล่ามา เมื่อได้เข้ามาอยู่ในเมืองไทยอ่าข่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น เปี๊ยะอ่าข่า อู่โล้อ่าข่า มักเรียกอ่าข่ากลุ่มนี้ว่า ลอมี้อ่าข่า ซึ่งเรียกตามถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมตอนอยู่ในประเทศพม่ามาเป็นชื่อกลุ่มอ่าข่ากลุ่มนี้

3.ผะหมี้อ่าข่า

กลุ่มผะหมี้อ่าข่าถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอ่าข่าที่ได้ถูกจำแนกประเภทจากด้านภูมิศาสตร์จากที่อยู่อาศัย ในเมืองไทยมีชื่อเรียกอ่าข่ากลุ่มนี้หลายชื่อ เช่น หละบื่ออ่าข่า หรืออ่าข่าจีน แต่ในประเทศจีนและประเทศพม่า อ่าข่ากลุ่มนี้เรียกตนเองว่า “ อู่เบี่ยะอ่าข่า ” แปลเป็นไทยว่ากลุ่มอ่าข่าที่ใส่หมวกแบนเพราะลักษณะการใส่หมวกแบนออกสองข้างหัว ในประเทศจีนเรียกกลุ่มอ่าข่านี้ว่า “ หม่อโป๊ะกู่ ” แปลว่าอ่าข่ากลุ่มที่มีตระกูลหม่อโป๊ะ บรรดากลุ่มอ่าข่าด้วยกันยอมรับอ่าข่ากลุ่มนี้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการค้าขาย หากจะกล่าวว่าเป็นกลุ่มอ่าข่าที่เป็นพ่อค้าคงไม่ผิด จากลักษณะนิสัยชอบค้าขาย ทำงานขยันขันแข็ง หนักเบาเอาสู้ ในเมืองไทยอ่าข่ากลุ่มนี้นิยมส่งลูกหลานเรียนภาษาจีนและส่งไปทำงานในประเทศไต้หวัน

ผะหมี้อ่าข่าที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยเป็นชุมชนใหม่ มีเพียงจังหวัดเชียงรายและบางส่วนอพยพกระจายไปอยู่ที่จังหวัดตาก ที่เชียงรายประกอบไปด้วยชุมชนบ้านผาหมี บ้านผาฮี้ บ้านกิ่วสะไตเหนือและใต้ บ้านหล่อชา และบ้านแม่จันใต้ ส่วนที่จังหวัดตากอยู่ที่บ้านร่มเกล้าสหมิตร

4.หน่าค๊าอ่าข่า

หากกล่าวถึงกลุ่มอ่าข่า ผู้คนส่วนใหญ่มักนึกถึงกลุ่มอู่โล้อ่าข่าที่ใส่หมวกแหลม ๆ ตั้งฉากลักษณะตรง เพราะกลุ่มอ่าข่านี้มีจำนวนมากและมักพบได้ทั่วไปในเขตภาคเหนือของประเทศไทย แต่ยังมีกลุ่มอ่าข่าอีกหลายกลุ่มยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป อาจด้วยจำนวนประชากรน้อย ลักษณะนิสัยส่วนตัวที่ขี้อาย หรือแม้กระทั่งการปกปิดตัว อย่างไรก็ตามในประเทศไทยในปัจจุบันมีกลุ่มอ่าข่าอยู่มากถึง ๘ กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มมีที่มาเหมือนกันนั่นคือมีบรรพชนเริ่มจาก “ จึ ” แต่ด้วยเหตุผลใดยังไม่เป็นที่แน่ชัดถึงความต่างของอ่าข่ากลุ่มเหล่านี้ มีความต่างในด้านภาษา ความเชื่อ การแต่งกาย ตลอดถึงพิธีกรรมบางอย่าง การเรียกชื่อแต่ละกลุ่มจึงมีความต่างกันไป บางส่วนก็ตามชื่อผู้นำ ชื่อที่อยู่อาศัยเดิม ลักษณะการแต่งกายและตามการแยกสายบรรพชนของอ่าข่า

หน่าค๊าอ่าข่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอ่าข่าในประไทยที่ทั้งหมดอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ที่มาของการเรียกชื่ออ่าข่ากลุ่มนี้ว่า “ หน่าค๊าอ่าข่า ” เนื่องจากชื่อนี้เป็นชื่อแม่น้ำเดิมที่เคยอาศัยตอนอยู่ในประเทศพม่าในบริเวณลุ่มแม่น้ำหน่าค๊า เมื่ออ่าข่ากลุ่มนี้ไปอาศัยในบริเวณนั้น ก็ได้ชื่อว่า หน่าค๊าอ่าข่าตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน

5. เปี๊ยะอ่าข่า

ปกติอ่าข่ากลุ่มนี้เรียกตนเองว่าอู่โล้ด้วยเพราะการแต่งกายมีหมวกแหลม ลักษณะตั้งฉากตรง และเป็นหนึ่งในสามกลุ่มอ่าข่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่มีลักษณะการใส่หมวกแหลม นอกเหนือจากอ้าจ้อ และอู่โล้ โดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายกับกลุ่มอู่โล้อ่าข่ามาก ไม่ว่าจะเป็นการเย็บผ้า ลายเย็บผ้า คำพูด สำเนียง การประกอบพิธีกรรมฯลฯ อาจมีความต่างในบางจุด เช่น หมวกที่สั้นกว่ากลุ่มอู่โล้อ่าข่า อ่าข่ากลุ่มนี้ หากนับจาก จึ หรือการร่ายชื่อบรรพบุรุษแยกจากจอเจ่อ เจ่อเหว่ย เช่นเดียวกันกับอู่โล้ , ลอเมี๊ยะ การที่อ่าข่ากลุ่มนี้ได้ชื่อว่าเปี๊ยะอ่าข่า เพราะผู้นำที่นำชนกลุ่มนี้ มีตำแหน่งสมัยอยู่ในดินแดนไทยใหญ่เป็น “ เปี๊ยะ หรือพญา ” อ่าข่าที่เข้ามาในเมืองไทย เกือบทั้งหมดมาทางสายเจ่อเหว่ย จะมีเพียงอ้าจ้าอ่าข่าเท่านั้นที่มาทางเจ่อจ้อ

เปี๊ยะอ่าข่า คือคำนำหน้าที่กลุ่มอ่าข่าได้ขนานนามตามชื่อผู้นำสมัยก่อน โดยดูจากความแตกต่างและสำเนียง ผู้นำเปี๊ยะมีชื่อเป็นภาษาอ่าข่าว่า “ อ้าผ่า ” เมื่อตำแหน่งและชื่อมารวมกันจึงเป็นเปี๊ยะอ้าผ่า ต่อมามีการเรียกชื่อเพี้ยน และมีการแปลชื่อเปี๊ยะ ซึ่งแปลว่าพญา กับคำเพี้ยนอ้าผ่ากลายเป็นไพร เมื่อรวมกันจึงเป็น “ พญาไพร ” เป็นที่มาของกลุ่มอ่าข่าเปี๊ยะและบ้านพญาไพร ปัจจุบันพญาไพรได้มาเป็นชื่อชุมชน และมีหลายหมู่บ้าน เช่นบ้านพญาไพรลิทู่ บ้านพญาไพรเล่ามา บ้านพญาไพรเล่าจอฯลฯ หมู่บ้านดั้งเดิมที่เปี๊ยะอ้าผ่ามาอยู่พร้อมบริวารคือหมู่บ้านพญาไพรลิทู่ เปี๊ยะ อ้าผ่า มีนามสกุลเป็นแบบอ่าข่าคือมาเยอะตะห่อง

6.อ้าเค้ออ่าข่า

เป็นกลุ่มอ่าข่าหนึ่งที่เดินทางมาจากประเทศจีนบริเวณสิบสองปันนา ก่อนเข้าสู่ประเทศพม่าในบริเวณเมืองลา และอพยพกระจายไปอยู่ในเชียงตุง ท่าขี้เหล็กและเข้ามาในเขตไทย ปัจจุบันอ้าเค้ออ่าข่ามีจำนวนมากที่ประเทศพม่า บริเวณตั้งแต่เมืองลาลงไปเมืองว้า เมืองยอง และมีจำนวนหนึ่งหนีเข้ามาประเทศไทย จากการศึกษาไม่พบว่าอ้าเค้ออ่าข่าอาศัยอยู่ในลาว และเวียดนาม การ  ที่กลุ่มอ้าเค้ออ่าข่ามีชื่อกลุ่มแบบนี้เพราะการถูกรุกไล่จากชนชาติอื่นๆ จากการบอกเล่าของ “พิ้มาเน่วส่อ ก๊อคือ” แห่งบ้านอ้าเค้อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย พิ้มาเล่าว่า             อ้าเค้อเป็นกลุ่มคนอ่าข่ากลุ่มเดียวที่เข้ามาและมีอยู่ในประเทศไทย แต่เดิมอ้าเค้อใช้ชื่อเรียกตนเองว่า “ อ่อเจยอก๊อคื้อ ” หรือ “ ก๊อคื้ออ่าข่า ” จากการศึกษาการขนานนามของกลุ่มอ่าข่าต่างๆ มักใช้ว่า “ หญ่า ญี่ ” ยกเว้นกลุ่มอ้าเค้ออ่าข่าที่ใช้เรียกว่าอ่อเจยอก๊อคื้อ และชื่ออ้าเค้อมาเกิดขึ้นที่สิบสองปันนาจากการถูกรุกไล่จากชนชาติจีน ไล่อ่าข่ากลุ่มนี้เป็นภาษาจีนว่า “ เขอ ” ซึ่งแปลว่าไป และชนชาติไทยลื้อได้ถามคนอ่าข่ากลุ่มนี้ว่าไปไหน และอ่าข่ากลุ่มนี้ได้ตอบว่า กลุ่มจีนไล่ว่าเขอจึงหนีมา ชนชาติไทยลื้อจึงเรียกอ่าข่ากลุ่มนี้ว่า อ่าข่า “ เขอ ”

เมื่ออพยพเข้ามาในประเทศพม่า อ่าข่ากลุ่มอื่น ๆ ที่เข้ามาก่อนหน้านั้นได้เห็นการแต่งกาย ภาษา และพิธีกรรมที่ต่างจากอ่าข่าทั่วไป และเห็นคนไทยลื้อและไทใหญ่เรียกอ่าข่ากลุ่มนี้ว่าชนเผ่าเขอ จึงเรียกอ่าข่าตามนี้ว่า “ เขออ่าข่า ” และต่อมาได้ถูกเรียกเพี้ยนเป็น “ อ้าเค้ออ่าข่า ” และเรียกมาจนปัจจุบัน

การร่ายชื่อบรรพบุรุษของกลุ่มอ้าเค้ออ่าข่าในเมืองไทยและทั่วโลกแตกต่างจากอ่าข่ากลุ่มอื่น ๆ แต่มีจุดเริ่มต้นที่เดียวกันนั้นคือ “ ซุ้มมิโอ ” จากซุ้มมิโอร่ายมาถึง จาเท่อสี่ แต่ของกลุ่มอ้าเค้อเป็นจาเท่อลี้ อีกจุดหนึ่งตรงที่ ลี้ภูแบ แล้วกระโดดข้ามเป็นอูหย่าโย่ ต่างจากอ่าข่าทั่วไปที่มักร่ายเป็นลี้ภูแบ ภูแบอู แล้วมาอูโย่หย่า ชื่อบรรพชนของกลุ่มอ้าเค้ออ่าข่า จึงหายช่วง “ ภูแบอู ” และมาสลับกันตรง อูหย่าโย่ กับ อูโย่หย่า อีกที ต่อมามาแยกตระกูลใหญ่ตรง เท่อเผอะ กลุ่มอ่าข่าทั้งหมดในเมืองไทยมาทางเท่อเผอะเม้อง แต่อ้าเค้ออ่าข่ามาทางเท่อเผอะโช้ย เท่อเผอะเสาะ เท่อเผอะฮื้อ การที่กลุ่มอ้าเค้ออ่าข่ามีภาษา การแต่งกาย ตลอดถึงวัฒนธรรมหลายอย่างต่างจากกลุ่มอ่าข่าทั่วไปเพราะกลุ่มอ่าข่าแยกสายสัมพันธ์ในด้านจึ ห่างจากกลุ่มอ่าข่าอื่น ๆ มาก ทำให้ภาษา การแต่งกายและอื่น ๆ ห่างเหินจากกลุ่มอ่าข่าอื่น ๆ ตามไปด้วย

7.อ้าจ้ออ่าข่า

การเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่าเป็นกลุ่มอ้าจ้อเพราะว่าตามหลักการนับชื่อบรรพชนอ่าข่า หรือที่เรียกเป็นภาษาอ่าข่าว่า “ จึ ” เป็นลูกหลานของ จ้อเปอะ การเรียกชื่อกลุ่มนี้ว่าอ้าจ้อ เป็นคำเก่าแก่ที่เรียกตั้งแต่สมัยอยู่ประเทศจีน ปัจจุบันทั้งในประเทศจีน พม่า ไทย ลาว และเวียดนามก็เรียกกลุ่มนี้ว่า อ้าจ้อ การที่มีคนเข้าใจว่าการเรียกขนานนามกลุ่มอ่าข่านี้ว่า อ้าจ้อ ย่อมาจากคำว่า อ้ามาจากอ่าข่า จ้อมาจากย่อจ้อ ซึ่งแปลว่ากลุ่มอ่าข่าที่กลายพันธุ์ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเข้าใจผิด ไม่เป็นความจริง การนับถือบรรพชนของคนอ่าข่ากลุ่มนี้ สามารถนับได้ เจ้อเจ่อ , เจ่อจ้อ , จ้อเปอะ , เปอะจื่อ , จื่อลุ่ม , ลุ่มแอ , เมื่อมาถึงลุ่มแอ มีพี่น้องอีกคน นั้นคือลุ่มแต วันนี้กลุ่มอ่าข่ากลุ่มนี้จึงมีนามสกุลเป็นลุ่มแอ กับลุ่มแต ซึ่งลุ่มแอกับลุ่มแตเป็นพี่น้องกัน และประชากรที่อยู่ในเมืองไทยเป็นเหลนของเจ่อจ้อ สืบต่อ ๆกันมาเป็นรุ่นที่ห้า

8.อู่พีอ่าข่า

การแบ่งกลุ่มประเภทของคนอ่าข่า เกิดจากหลายสาเหตุ และหนึ่งในเหตุผลหลักคือการ  แต่งกายของผู้หญิง จากเครื่องประดับ ความสวยงามและลักษณะทรงหมวก เป็นที่มาของการแบ่งกลุ่มที่หลากหลายในปัจจุบัน การจำแนกกลุ่มอ่าข่าด้วยปัจจัยการแต่งกาย ไม่พบว่าคนอ่าข่าเคยแบ่งกลุ่มเพราะความต่างจากเครื่องแต่งกายของผู้ชาย แต่จะพบหลายกลุ่มที่แบ่งตามความต่างการแต่งกายของผู้หญิงที่มีความโดดเด่น สวยงาม และเพียบพร้อมไปด้วยเครื่องประดับทั้งขนสัตว์และเครื่องเงิน

อู่พีอ่าข่าเป็นกลุ่มอ่าข่าที่ถูกแบ่งเพราะการแต่งกายต่างจากกลุ่มอ่าข่าอื่น หากมองเพียงข้างหน้าหมวกที่ผู้หญิงอ่าข่ากลุ่มนี้ประดับ ก็อาจเข้าใจว่าเป็นลอเมี๊ยะอ่าข่า เพราะมีความเหมือนกับการแต่งกายของคนอ่าข่าลอเมี๊ยะมาก กล่าวคือมีลูกต้มกลมห้อยเรียงลงมาเหมือนกัน แต่หากมองและสังเกตอย่างละเอียดจะพบว่า มีหลายจุดที่ต่างกัน เช่น หมวกด้านหลังของกลุ่มลอเมี๊ยะมีแผ่นเงินในลักษณะตรง ขณะที่กลุ่มอู่พีอ่าข่ามีหมวกแหลมกลมข้างหลังห้อยลงบริเวณคอ 

การเรียกชื่อกลุ่มว่า “ อู่พี ” ก็ถูกจำแนกจากลักษณะการแต่งกายตรงหมวกนั่นคือ คำว่า “ อู่ ” มาจากคำเต็มว่า “ อู่ตู่ ” แปลว่าหัว และ ” พี ” เป็นคำโดด ที่มีความหมายว่าแบก เมื่อมารวมกันคำว่า “ อู่พี ” จึงหมายถึงกลุ่มอ่าข่าที่มีการแต่งกาย (หมวกผู้หญิง) ในลักษณะการแบก

 

Enter your email address to subscribe to this blog and receive notifications of new posts by email.

Join 7 other subscribers